2552-07-26

ธุรกิจร้านกาแฟกับแนวโน้มการตลาด



ร้านกาแฟกับแนวโน้มการตลาด ไม่นานมานี้พบว่า ธุรกิจร้านกาแฟมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันระหว่างธุรกิจร้านกาแฟรายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา ทำให้วงการธุรกิจร้านกาแฟคึกคักอย่างเห็นได้ชัด และในขณะเดียวกันก็ปลุกกระแสคอกาแฟที่เดิมนิยมดื่มกาแฟผงสำเร็จรูปให้หันมาดื่มกาแฟสดมากขึ้น จากผลการสำรวจโดย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกร จำกัด พบว่า พฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยนับตั้งแต่ปี 2545-2548 มีมูลค่าตลาดสูงกว่า 100 %


ปี กาแฟผง กาแฟกระป๋อง กาแฟพรีเมี่ยม มูลค่าตลาดรวม

ปี 2545 5,600 6,000 3,000 10,000

ปี 2546 7,800 6,300 3,500 17,000

ปี 2547 8,500 6,600 4,000 19,100

ปี 2548 9,300 7,000 4,700 21,000

การบริโภคกาแฟของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คือ บริโภคน้อยกว่าร้อยละ 0.5 กิโลกรัม/คน/ปี หรือ ประมาณ 130-150 ถ้วย/คน/ปี หรือ ไม่ถึง 1 แก้ว/คน/วัน หรือถ้าเทียบเป็นอัตราส่วนของผู้บริโภคแล้ว คนดื่มกาแฟจะมีประมาณ ร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับชาวญี่ปุ่นที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 500 แก้วต่อคนต่อปี หรือชาวอเมริกันที่ดื่มกาแฟเฉลี่ย 700 แก้วต่อคนต่อปี ซึ่งจากการประเมินตัวเลขดังกล่าว ทำให้นักธุรกิจหลายคนมองว่า ตลาดกาแฟสดมีโอกาสทะลุระดับ 7,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มองการดื่มกาแฟเป็นสิ่งที่แสดงรสนิยมมากขึ้น สำหรับธุรกิจ SMEs แล้ว หากใครสามารถแบ่งส่วนการตลาดมาแค่ร้อยละ 5-10 ก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่อย่าลืมว่า ก่อนเปิดธุรกิจกาแฟ สิ่งสำคัญที่มือใหม่ต้องทำ คือ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคให้ชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 25-40 ปี และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถสร้างจุดเด่นของร้านให้แตกต่างกับแบรนด์เจ้าตลาด หรือ คนที่ทำมาก่อน ทั้งในสูตรการคั่วกาแฟ การปรุงรส เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคอกาแฟ